ดอกคำฝอย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Carthamus tinctorius L.
ชื่อสามัญ : Safflower, False Saffron, Saffron Thistle
วงศ์ : Compositae
ชื่อท้องถิ่น : คำ คำฝอย ดอกคำ (เหนือ) คำยอง (ลำปาง) ดอกคำฝอย คำ คำยอง
ชื่อวิทยาศาสตร์: Carthamus tinctorius Linn.
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก สูง 40-130 ซม. ลำต้นเป็นสัน แตกกิ่งก้านมาก ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปวงรี รูปใบหอกหรือรูปขอบขนาน กว้าง 1-5 ซม. ยาว 3-12 ซม. ขอบใบหยักฟันเลื่อย ปลายเป็นหนามแหลม ดกช่อ ออกที่ปลายยอด มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก เมื่อบานใหม่ๆ กลีบดอกสีเหลืองแล้วจึงเปลี่ยนเป็นสีแดง ใบประดับแข็งเป็นหนามรองรับช่อดอก ผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก เมล็ดเป็นรูปสามเหลี่ยม สีขาว ขนาดเล็ก
สรรพคุณ
ดอก หรือกลีบที่เหลืออยู่ที่ผล
- รสหวาน บำรุงโลหิตระดู แก้น้ำเหลืองเสีย แก้แสบร้อนตามผิวหนัง
- บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท ขับระดู แก้ดีพิการ
- โรคผิวหนัง ฟอกโลหิต
- ลดไขมันในเส้นเลือด ป้องกันไขมันอุดตัน
เกสร
- บำรุงโลหิต ประจำเดือนของสตรี
เมล็ด
- เป็นยาขับเสมหะ แก้โรคผิวหนัง ทาแก้บวม
- ขับโลหิตประจำเดือน
- ตำพอกหัวเหน่า แก้ปวดมดลูกหลังจากการคลอดบุตร
น้ำมันจากเมล็ด
- ทาแก้อัมพาต และขัดตามข้อต่างๆ
ดอกแก่
- ใช้แต่งสีอาหารที่ต้องการให้เป็นสีเหลือง
ข้อห้าม/ข้อควรระวัง
ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีภาวะเลือดออกมากผิดปกติ แผลในกระเพาะอาหาร และ มีประจำเดือนมากผิดปกติ
ควรระมัดระวังเมื่อใช้ร่วมกับยายับยั้งการแข็งตัวของเกร็ดเลือด (anticoagulant)
อาการอันไม่พึงประสงค์
อาจทำให้ประจำเดือนมามากกว่าปกติ มึนงง ผื่นคัน
การ ใช้สมุนไพรตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทยนั้นไม่ใช่เรื่องงมงาย แต่มีความคล้ายคลึงกับฤทธิ์ของสมุนไพรที่พบในห้องปฎิบัติการด้วย คำฝอยเป็นตัวอย่างสมุนไพรที่ดีเพราะในทฤษฎีการแพทย์แผนไทยใช้ดอกคำฝอยในการ บำรุงเลือด (ในทฤษฎีการแพทย์แผนไทย ไม่มีภาวะไขมันในเลือดสูง)
ดอกคำฝอยใช้เป็นสีผสมอาหารได้ โดยสีจะเป็นสีเหลืองส้มในกลีบดอก น้ำมันในเมล็ดของดอกคำฝอยมีกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว ที่ชื่อว่า กรดไขมันไลโนเลอิค ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน และ กรดไขมันโอเลอิค ซึ่งเป็นไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว
กรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Unsaturated fatty acids นั้น เป็นกรดไขมันที่มีธาตุคาร์บอนต่อกันด้วยพันธะคู่ จึงมีความคงตัวต่ำ หรือ พูดง่ายๆ ว่าไม่ค่อยคงตัวเพราะพันธะคู่นี้สามารถแตกตัวเป็นพันธะเดี่ยวได้ แต่เจ้ากรดไขมันไม่อิ่มตัวก็มีข้อดีว่ามันจะช่วยลดระดับคลอเลสเตอรอลในเลือด ซึ่งทั้งเจ้ากรดโอเลอิคและไลโนเล อิคนั้นก็เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวทั้งคู่ ที่สามารถช่วยลดไขมันในเลือดได้ ทั้งนี้มีการศึกษาในหนูแล้วว่ากรดไขมันไม่อิ่มตัวโดยเฉพาะกรดไลโนเลอิค จะช่วยลดระดับคลอเลสเตอรอลได้ แถมข้อดีอีกประการของน้ำมันดอกคำฝอยก็คือมี คุณสมบัติทนความร้อนได้สูง ดังนั้นในต่างประเทศจึงมีการนำน้ำมันดอกคำฝอยมาใช้ในการทอดและประกอบอาหาร ต่างๆ
จากคอลัมภ์ “พืชใกล้ตัว” โดย ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว
ของวารสาร “อภัยภูเบศรสาร” ปีที่ 4 ฉบับที่ 42 ประจำเดือน ธันวาคม 2549